อัตตา แกลเลอรี่ มีความยินดีขอเชิญเป็นเกียรติร่วมงาน และ พบปะพูดคุยกับศิลปินในงานเปิดนิทรรศการรวมพลังครั้งพิเศษของ 8 ศิลปินและดีไซเนอร์ชั้นแนวหน้าของไทย วิภู ศรีวิลาศ, ม.ล.ภาวินี ศุขสวัสดิ์ สันติศิริ, ดร.สิงห์ อินทรชูโต, เพลินจันทร์ วิญญรัตน์, รัฐ เปลี่ยนสุข, จูน เซคิโน, พิบูลย์ อมรจิรพร และ นักรบ มูลมานัส เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ หารายได้ช่วยเหลือสัตว์ป่าเจ็บป่วยและถูกทิ้งภายใต้การดูแลของศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 (นครนายก) ในวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 ระหว่างเวลา 17:00 – 20:00 น. โดยนิทรรศการจะมีจัดไปจนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567
เกี่ยวกับนิทรรศการ
นิทรรศการศิลปะและงานออกแบบ การรวมพลังครั้งพิเศษของ 8 ศิลปินและนักออกแบบชั้นแนวหน้าของไทย เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน หารายได้ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่บาดเจ็บและสัตว์ป่าที่ไม่อาจคืนสู่ป่าได้
Isolation and Friendship โดย วิภู ศรีวิลาศ
นักสร้างสรรค์งานประติมากรรมเซรามิก ประติมากรรมสื่อผสม รูปปั้นสำริด และศิลปะแบบที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วม งานศิลปะของวิภูสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตและความรู้สึก โดยมักนำเอาวัฒนธรรม ตำนาน ความเชื่อของไทย สอดแทรกเป็นแรงบันดาลใจ ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักในระดับสากล ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด วิภูเป็นหนึ่งในอีกหลายสิบล้านคนที่ต้องทนกับการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจ ความรู้สึก และทำให้คนจำนวนมากได้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อชีวิต ช่วงหลังจากเหตุการณ์การแพร่ระบาด วิภูได้สร้างสรรค์ผลงานซีรีย์ “Always Better Together” เพื่อสื่อสารความรู้สึกความเชื่อของเขาที่ว่า ‘ชีวิตจะดีงามที่สุดอย่างแท้จริง เมื่อมีเพื่อนและครอบครัวอยู่เคียงข้าง’
ผลงานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้คือภาพวาดบนพอร์ซเลนชื่อว่า ‘Isolation and Friendship’ เป็นหนึ่งในซีรีย์ดังกล่าว บอกเล่าหลากหลายรูปแบบความสัมพันธ์ฉันท์มิตร โดยมีลวดลายจาก ‘สิม’ อีสาน เป็นแรงบันดาลใจ
Heal Me, Feed Me, Free Me โดย ม.ล.ภาวินี ศุขสวัสดิ์ สันติศิริ
นักออกแบบหญิงผู้มีชื่อเสียงมายาวนานและมีผลงานโดดเด่นมาโดยตลอด เจ้าของแบรนด์ Ayodhya และผู้ก่อตั้งสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ ร่วมกันกับอีก 3 นักสร้างสรรค์ ‘ต่อ สันติศิริ’ ครีเอทีฟโฆษณามือหนึ่งของเมืองไทย, ‘กรกต อารมย์ดี’ นักออกแบบที่โดดเด่นด้านผลงานไม้ไผ่จากแบรนด์ Korakot และ Angus Hutcheson จาก Ango แบรนด์ไลท์ติ้งดีไซน์ นำเสนอ ‘Heal Me, Feed Me, Free Me’ ผลงานประติมากรรมไฟ (light sculpture) รูปหมีควาย 3 ตัว พ่อ-แม่-ลูก ที่ทำจากโครงไม้ไผ่ลวดสานขึ้นรูปกรุด้วยผ้าฝ้าย
ภาพของหมีควาย สัตว์ป่าที่เกือบใกล้สูญพันธุ์ และสัตว์ป่าอื่น ๆ ซึ่งต้องมาอยู่ในกรงขนาดเล็ก มีอาหารไม่พอเพียง รวมถึงสัตว์อื่น ๆ ที่บาดเจ็บต้องได้รับการดูแลรักษาก่อนปล่อยคืนสู่สภาพธรรมชาติ คือแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานศิลปะ เพื่อสื่อให้เห็นถึงสภาพที่สัตว์เหล่านี้ต้องการ
Fading Tiger โดย รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต
นักออกแบบ นักวิชาการที่ทำงานด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ผลงานที่ผ่านมาของเขา ไม่เพียงทำขึ้นมาเพื่อช่วยเปลี่ยนขยะหรือสิ่งของเหลือทิ้งให้กลายเป็นของมีค่า แต่ยังเน้นการปลุกจิตสำนึกของผู้คนให้หันมาใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ด้วย ประติมากรรมชื่อ ‘Fading Tiger’หรือ ‘เงาเสือ’ ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ทำขึ้นจากเศษเหล็ก ต่อเป็นโครงร่างของเสือ เป็นงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการที่เสือซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ผู้มีพลังอำนาจ แข็งแกร่ง และกล้าหาญ มีจำนวนลดลงอย่างมากจนบางพันธุ์ใกล้สูญไปจากเมืองไทย จำนวนเสือในไทยลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะถูกคนล่าและป่าถูกทำลาย ประชากรของเสือที่หายไป ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในป่า และท้ายที่สุดก็ส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งหมด ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล
เส้นโครงรูปร่างเสือ เป็นการสื่อสารให้ตระหนักร่วมกันว่า หากเราไม่ดูแล ไม่อนุรักษ์ เสือจะเหลือเพียงเส้นเงาลาง ๆ กลายเป็นเพียงภาพในความทรงจำ ไม่มีเสือเหลือให้นิเวศป่าสมดุลอีกต่อไป
Beyond the Hunt โดย เพลินจันทร์ วิญญรัตน์
ศิลปิน textile art และนักออกแบบสิ่งทอที่มีชื่อเสียงในระดับท็อปของไทย ผลงานสร้างสรรค์ของเพลินจันทร์ที่เน้นสีสัน สร้างมิติ เล่นกับเท็กซ์เจอร์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและสื่อสารความรู้สึกอย่างมีเอกลักษณ์ มีปรากฏให้เห็นทั้งในเมืองไทยและต่างแดน ทั้งในโรงแรมชื่อดัง อาคารและสโตร์ที่มีชื่อเสียงซึ่งหนึ่งในนั้นมี Louis Vuitton ร่วมอยู่ด้วย
ผลงานที่เพลินจันทร์นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ชื่อว่า ‘Beyond the Hunt’ เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามของเธอที่ว่า“ทำไมเราต้องล่าฆ่าสัตว์เพื่อสนองความบันเทิง”, “ทำไมเราต้องนำสัตว์ป่ามากักขังในกรงแคบ ๆ” และ “ทำไมเราถึงไม่ชื่นชมสัตว์ป่าที่อยู่ตามธรรมชาติ”
งาน textile art รูปเสือขนาดใหญ่สูง 3 เมตรกว่าที่ถูกตรึงอยู่กับโครงเหล็กแน่นพอดีตัว เปรียบเสมือนเสือที่ถูกขังอยู่ในกรงแคบ ๆ เพื่อให้คนมาดูเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยง ทั้ง ๆ ที่เสือควรจะมีชีวิตโลดแล่นตามธรรมชาติในป่าอันกว้างใหญ่ วิญญาณเสือตัวนี้ ทอด้วยเส้นใยเหลือเก็บจากการทอพรมที่ค้างสต๊อกมาจากการทำงานในโปรเจ็คท์ใหญ่ ๆ เป็นเส้นใยที่นำมาทอพรมผืนใหม่ไม่ได้และถูกเก็บมามากกว่า 20 ปี
The Last Safe Place โดย รัฐ เปลี่ยนสุข
นักออกแบบมือรางวัลและสถาปนิกดีเด่น ผู้ผนวกเอาความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและความหลงใหลในธรรมชาติของงานศิลปะไทย มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ รัฐมักนำเอาวัสดุและเทกนิคของงานศิลปะไทยแบบดั้งเดิมเข้ามามีส่วนในการสร้างสรรค์ผลงานของเขา สร้างให้งานศิลปะที่สอดแทรกอารมณ์ของความเป็นไทย มีเอกลักษณ์ และร่วมสมัย
ผลงาน ‘The Last Safe Place’ ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ เป็นช่อใบไม้ที่ทำจากทองเหลือง ซึ่งศิลปินต้องการสื่อให้เห็นว่านี่คือบ้านหลังสุดท้ายของมนุษย์และสัตว์ป่า เป็นตัวแทนของความหวัง เป็นป่าที่เราต้องดูแลรักษาให้เป็นแหล่งพักพิงอันปลอดภัยสำหรับสัตว์ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เกิดนิเวศที่สมดุลซึ่งส่งผลดีต่อมนุษย์เช่นกัน
A Unicorn in the Room โดย นักรบ มูลมานัส
ศิลปินผู้มีชื่อเสียงด้านงานคอลลาจอาร์ต ผลงานของเขามักสะท้อนเรื่องราวและเจตคติที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันของไทย ความสัมพันธ์ในบางแง่มุมระหว่างชนชาติตะวันออกกับตะวันตก นอกจากผลงานภาพศิลปะ นักรบยังเป็นนักเขียนผู้เล่าเรื่องในหลากหลายแง่มุมทั้งในด้านทัศนคติ ค่านิยมทางวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ของไทยและชาติตะวันตกที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ความ‘คม’ของเนื้อหาที่เขาสื่อสารผ่านงานศิลปะและงานเขียน สร้างความแตกต่าง โดดเด่น และความน่าสนใจให้แก่ผลงานของเขาเสมอมา
งานภาพพิมพ์คอลลาจ A Unicorn in the Room เป็นเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของการสำรวจความนึกคิด ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ผ่านความทรงจำทางประวัติศาสตร์ในยุคจักรวรรดินิยม ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงวาทกรรมว่าด้วยความเป็นตะวันออกกับตะวันตก ความเป็นเรากับความเป็นอื่น หรือความเป็นจริงกับจินตนาการ
Maru โดย จูน เซคิโนะ
สถาปนิกชื่อดังผู้นำเอาธรรมชาติและความธรรมดาเรียบง่าย มาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่เรียบง่ายแต่มีรายละเอียดไม่ธรรมดา ในการจัดแสดงผลงานครั้งนี้ก็เช่นกัน เขานำเอา ‘แมวกวัก’ สัญลักษณ์ตามคตินิยมของญี่ปุ่นที่คนไทยรู้จักกันดีมาเป็นแนวคิดต้นเรื่อง แมวกวักโดยทั่วไปเป็นตัวแทนของการนำมาซึ่งความโชคดี และความมั่งคั่ง แต่หากเป็นแมวกวักสีดำจะสื่อถึงการช่วยปกป้องคุ้มครองไม่ให้เจ็บป่วย ให้สุขภาพดี และพ้นจากโชคร้ายนานา
คอนเส็พท์ในการออกแบบของเขามุ่งไปที่การมองและการรับรู้ของคนที่ต่างกันไป ระหว่างแมวบ้านกับเสือดำ ด้วยรูปทรงของ Maru ที่ถูกทำขึ้น สร้างการรับรู้ที่ชวนให้โยงใยถึงกัน งานสร้าง Maru ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงสร้างงานสถาปัตยกรรม ทำจากแผ่นไม้รูปทรงเส้นโค้งวงกลมที่ไม่บรรจบกัน ไม้แต่ละชิ้นถูกวางซ้อนกันอย่างพิถีพิถันเพื่อสร้างรูปทรงที่สง่างาม โดยมี พิษณุ นำศิริโยธิน ครูและนักออกแบบผู้เชี่ยวชาญงานไม้มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานที่เปิดโอกาสให้คนตีความได้อย่างเสรี ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความเชื่อ และมุมมองของแต่ละคน
Apart and Connection โดย พิบูลย์ อมรจิรพร
สถาปนิก และนักออกแบบผู้ก่อตั้งแบรนด์ Plural Designs ผลงานของเขามักมีความเกี่ยวเนื่องกับงานคราฟท์และงานศิลปะมาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงผลงานที่มีชื่อว่า ‘Apart and Connection’ ซึ่งนำมาจัดแสดงในครั้งนี้เช่นกัน
พิบูลย์รวบรวมงานรูปตัวสัตว์ขนาดเล็กมาจากหลากหลายสถานที่ มีวัสดุทั้งที่เป็นเซรามิก ไม้ และพลาสติก แต่ละตัวมีตําหนิ มีรอยแตก ต่างกันไป ตําหนิที่เกิดขึ้นทําให้ชิ้นงานเหล่านี้แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์ไปตลอดกาล แต่ยังคงถูกเก็บไว้ เขานำรูปสัตว์เหล่านี้ มาซ่อมด้วยเทคนิคคินสึงิ (Kinsugi) ทำให้สัตว์เหล่านี้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ เพื่อต้องการบอกเล่าเรื่องราวของของสัตว์ป่าที่บาดเจ็บและถูกนํามาดูแลในศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า แม้ไม่อาจมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ไม่อาจหวนคืนสู่ป่าธรรมชาติ แต่จะทำอย่างไรให้ชีวิตของเหล่าสัตว์ภายในศูนย์ฯ ดีขึ้นกว่าเดิมได้
การซ่อมชิ้นงานด้วยเทคนิคคินสึงิ เพื่อให้บรรดาตัวสัตว์ได้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง ทําให้ศิลปินได้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ผ่านกระบวนการการทำงาน ทำให้เกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ต่างจากเดิม
นิทรรศการครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2024 จัดแสดงเพื่อหารายได้สนับสนุนการสร้างคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่าที่บาดเจ็บ สัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับคดีความ และสัตว์ป่าที่ไม่อาจคืนสู่ป่าได้ ภายใต้การดูแลของศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 (นครนายก) รวมถึงสนับสนุนสวัสดิการการทำงานของเจ้าหน้าที่ในศูนย์ฯ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้ได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการลักลอบค้าสัตว์ป่าและขยายพันธุ์สัตว์ป่า
ศิลปิน
วิภู ศรีวิลาศ, ม.ล.ภาวินี ศุขสวัสดิ์ สันติศิริ, ดร.สิงห์ อินทรชูโต, เพลินจันทร์ วิญญรัตน์, รัฐ เปลี่ยนสุข, จูน เซคิโน, พิบูลย์ อมรจิรพร และ นักรบ มูลมานัส