ในวันที่เรามีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน แต่มีเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน ‘สินเชื่อส่วนบุคคล’ นับเป็นหนึ่งในทางเลือกที่อาจช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ตอบโจทย์ชีวิตคุณได้ แต่ทุกการตัดสินใจก็ย่อมมีผลตามมา เช่น ภาระหนี้สิน กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ชวนทำความรู้จักกับ ‘สินเชื่อส่วนบุคคล’ ตัวช่วยในวันที่เกิดเรื่องฉุกเฉินด้านการเงิน พร้อมคำแนะนำดี ๆ เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นก่อนตัดสินใจ
สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นแหล่งเงินฉุกเฉินที่อนุมัติให้ผู้ขอสินเชื่อสามารถนำเงินก้อนไปใช้จ่ายในเรื่องที่ต้องการได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการค้ำประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับกลุ่มคนวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้ประจำ เช่น พนักงานบริษัท และกลุ่มเจ้าของกิจการหรือผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ฟรีแลนซ์ เป็นต้น ปัจจุบัน สถาบันการเงินต่าง ๆ นำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลหลากหลายรูปแบบเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า โดยหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยอดนิยม คือ ‘บัตรกดเงินสด’ ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะพิจารณาให้สินเชื่อจากวงเงินที่ต้องการขอ, เอกสารหรือข้อมูลแสดงรายได้, ภาระหนี้สินในปัจจุบัน รวมทั้งประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของผู้ขอสินเชื่อ
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับเราหรือไม่และควรขอสินเชื่อเท่าไร ก่อนตัดสินใจ ลองถามตัวเองง่าย ๆ กับ ‘Checklist 5 ข้อ…ก่อนคิดขอสินเชื่อส่วนบุคคล’
1. อยากขอสินเชื่อไปทำอะไร ? – แนวคิดพื้นฐานก็คือ ‘คิดก่อนใช้ ใช้เท่าที่จำเป็น’ก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อ ลองถามตัวเองก่อนว่า ต้องการเงินก้อนนี้ไปทำอะไร จำเป็นจริง ๆ หรือไม่ เช่น ขอสินเชื่อเพื่อไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลก้อนใหญ่ เพื่อเป็นเงินทุนในการทำธุรกิจ หรือเพื่อรีไฟแนนซ์ลดภาระดอกเบี้ย เป็นต้น และควรถามตัวเองด้วยว่า สามารถรับผิดชอบภาระหนี้สินที่จะตามมาได้หรือไม่
2. ควรขอสินเชื่อวงเงินเท่าไร? – แน่นอนว่า ใคร ๆ ก็อยากได้เงินก้อนใหญ่ แต่ต้องคิดก่อนว่า เงินก้อนนี้จะตามมาด้วยภาระดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน การกำหนดวงเงินที่ต้องการขอสินเชื่อส่วนบุคคลให้เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ปกติแล้ว วงเงินสินเชื่อที่สถาบันการเงินอนุมัติ มักจะไม่เกิน 3-5 เท่าของรายได้ โดยเราควรจะคำนวณก่อนว่า หากหักค่าใช้จ่ายประจำ ค่ากินอยู่ในแต่ละเดือนแล้ว เราต้องสามารถรับผิดชอบจ่ายคืนเงินที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนได้โดยไม่ลำบากหากคำนวณแล้วคิดว่าอาจผ่อนชำระไม่ไหว อาจลดวงเงินที่จะขอสินเชื่อลง หรือยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระให้นานขึ้น เพื่อลดภาระหนี้สินในแต่ละเดือนให้บริหารเงินได้คล่องตัวขึ้น
3. จะชำระเงินคืนได้เมื่อไร? – เมื่อขอสินเชื่อมาแล้วอย่านิ่งนอนใจ เพราะแต่ละวันที่ผ่านไปก็หมายถึงภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ขั้นตอนต่อไปจึงควรวางแผนวิธีชำระเงินคืนและจัดสรรเงินใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง
4. แต่ละเดือน สามารถจ่ายคืนได้ตามกำหนดเวลาหรือไม่? – กรอบเวลาวันเริ่มและสิ้นสุดการชำระเงินคืน กำหนดให้เรารู้จักรับผิดชอบวางแผนชำระคืนให้ตรงเวลา เพราะหากพลาดไปอาจเกิดภาระดอกเบี้ยตามมา ดังนั้น ก่อนขอสินเชื่อส่วนบุคคลจึงควรมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ ไม่ผิดนัดชำระเงินคืนในแต่ละเดือน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ เพื่อรักษาวินัยทางการเงินของตัวเองไว้
5. ควรวางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือนอย่างไร? – แต่ละเดือนเราควรวางแผนการใช้เงินเพื่อให้เห็นภาพรวมการใช้จ่ายของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดเราต้องรู้รายรับ, รายจ่าย, ยอดหนี้ที่ต้องชำระคืน หากทำแบบนี้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เรารู้ความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเอง และสามารถหาทางปลดหนี้ได้เร็วขึ้น โดยอาจหาช่องทางหารายได้เสริม หรือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงเพื่อประหยัดเงิน เพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้เราหมดภาระหนี้สินได้เร็วขึ้น
แนวทางข้างต้นไม่เพียงเป็นหลักให้คิดก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น หากแต่ยังช่วยเพาะบ่มนิสัยสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้เกิดกับตัวคุณได้ด้วย เพราะท้ายที่สุดวินัยทางการเงินที่ดีจะเป็นหลักยึดให้คุณสามารถจัดการเรื่องการเงินของตัวเองได้อย่างมีสติอยู่เสมอ