ริชาร์ด โคห์ ไฟน์อาร์ต (RKFA) มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะประกาศเปิดตัวนิทรรศการเดี่ยว “Paradise Found Paradox” นำเสนอผลงานอันท้าทายของศิลปินชื่อดัง กอร์ดอน ชุง โดยนิทรรศการจะเปิดแสดง ณ RKFA แกลลอรี่ ที่ประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 7 ถึง 28 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้
ผลงานชุด “Paradise Found Paradox” ถือเป็นการแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกของกอร์ดอน ชุง ในประเทศสิงคโปร์ โดยศิลปินได้ผสานเอาภาพทิวทัศน์แบบสื่อผสม (Mixed Media) อันน่าหลงไหล เข้ากับองค์ประกอบภาพนิ่ง และงานประติมากรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความเงียบสงบในสวนของนักปราชญ์ชาวจีน ซึ่งเขาได้รวมเอาความงดงามของธรรมชาติเข้ากับความปรารถนาอันลึกซึ้งของมนุษย์ชาติไว้อย่างชาญฉลาด
แนวทางอันเป็นเอกลักษณ์ของ กอร์ดอน ชุง บอกเล่าเรื่องราวของความย้อนแย้งภายใต้แนวคิดแห่ง “การค้นพบดินแดนแห่งสวรรค์ (Paradise Found)” ซึ่งมองลึกลงในความสัมพันธ์อันซับซ้อน ระหว่างแนวคิดอันแสนสงบและงดงาม กับเงามืดที่ซ่อนเร้นของการล่าอาณานิคม ศิลปินได้นำทางเราสู่ความจริงอันหลากหลายแง่มุมของหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่ง “การค้นพบดินแดนแห่งสวรรค์” ได้ทำหน้าที่เสมือนข้ออ้างของการล่าอาณานิคม บ่อยครั้ง สิ่งนี้คือหน้ากากอำพรางกับผลกระทบน่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับชนพื้นเมืองต่างๆ
งานศิลปะของกอร์ดอน ชุง ได้ถักทอเรื่องเล่าแห่งการล่าอาณานิคมนี้ไว้อย่างแยบยล ผ่านพื้นที่อันเป็นเสมือนดินแดนสงบสุขภายในสวนของนักปราชญ์จีน และเชื้อเชิญให้ผู้ชมร่วมเดินทางอย่างใคร่ครวญ บนเส้นทางของบันทึกประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะ
ดอกไม้ที่เบ่งบานอย่างงดงาม และภูมิทัศน์ที่ผันแปรตามกาลเวลา ถูกนำเสนอร่วมกับภาพวาด40 ทิวทัศน์จากม้วนกระดาษของหยวนหมิงหยวน (Yuanmingyuan) หรือที่รู้จักในนามพระราชวังฤดูร้อนโบราณแห่งเมืองปักกิ่ง พระราชวังที่สงบร่มเย็นแห่งนี้ได้ตกเป็นเหยื่อของการปล้นสะดมและเผาทำลายในช่วงสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 อันเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความขมขื่นบนผ้าแคนวาสของกอร์ดอน ชุง
ศิลปินได้อ้างอิงถึงจิตรกรรมภาพนิ่ง (Still-Life paintings) ในยุคทองของเนเธอร์แลนด์ โดยดึงเอาเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ที่รู้จักกันในนาม ‘Tulipmania’ มาผสานได้อย่างแยบคาย ในยุคนี้เอง ได้มีการเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ อันขับเคลื่อนโดยองค์กรการค้าข้ามชาติ เช่น บริษัท อีส อินเดีย ตะวันออก (The East India Trade Company) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวของลัทธิล่าอาณานิคม เส้นทางการค้าทางการทหาร และการค้าทาสอันน่ารังเกียจ
ในนิทรรศการชุด Paradise Found Paradox นี้ สวนอันเงียบสงบของนักปราชญ์จีนได้ปรากฎเป็นทั้งสวนอีเดนอันศักดิ์สิทธิ์รุ่งโรจน์ และสัญลักษณ์แห่งความสูญเสีย สะท้อนถึงเรื่องราวที่เกี่ยวพันกันระหว่างดินแดนที่สงบสุข และขมขื่น งานศิลปะของกอร์ดอน ชุง ยังกระตุ้นให้เราใคร่ครวญ และผลักดันให้เราสืบค้นถึงความซับซ้อนของมุมมองภายในที่ส่งผลถึงการรับรู้ของเราต่อ “แดนสรวงสวรรค์” และตำนานที่ยังคงอยู่ของลัทธิการล่าอาณานิคมผ่านทางประสบการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เอง ที่ผู้ชมจะได้ถูกเชื้อเชิญให้ตั้งคำถามต่อความสัตย์จริงของหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยผู้ชนะ ในขณะเดียวกัน ก็ค่อยๆ หล่อเลี้ยงความเข้าใจที่ถ่องแท้ต่อการเล่าเรื่องราวแห่งมนุษย์ชาติร่วมกันของพวกเรา
ผลงานชุด “Paradise Found Paradox” ของกอร์ดอน ชุง ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นนิทรรศการที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นคิด และสะกดสายตา เผยให้เห็นถึงความซับซ้อนของความคิดภายใน ที่ได้สร้างนิยามของเราต่อภาพดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ ขอเชิญชวนผู้ชมมาร่วมสัมผัสบนเส้นทางแห่งการใคร่ครวญและทำความเข้าใจ ซึ่งจะฉายภาพถึงความลึกลับของการถักทอเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เรามีร่วมกัน
ประวัติ ศิลปิน กอร์ดอน ชุง (Gordon Cheung)
กอร์ดอน ชุง เกิดในปี พ.ศ. 2518 ณ เมืองลอนดอน ในครอบครัวชาวจีน เขาได้พัฒนาแนวทางใหม่ในการสร้างงานศิลปะที่ได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกเสมือนและโลกแห่งความเป็นจริงพร่าเลือนลง เพื่อสะท้อนคำถามถึงความหมายของการดำรงอยู่ของมนุษย์ ภายใต้อารยธรรมที่ถูกเขียนขึ้นจากประวัติศาสตร์ของผู้ชนะ เขาได้ตั้งคำถามและวิพากษ์ถึงผลกระทบของระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนอย่างซ้อนเร้นเป็นรากฐานแห่งอำนาจและการรับรู้ถึงตัวตน เขตแดน และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเรา การบอกเล่าเรื่องราวของกอร์ดอน ชุง มอบมุมมองที่ไม่ต่างจากการหักเหของแสงผ่านปริซึมแห่งวัฒนธรรม ตำนาน ศาสนา และการเมือง สู่ดินแดนแห่งความฝันของโลกในเมืองเหนือจริง ที่มีรากฐานจากอัตลักษณ์อันหลากวัฒนธรรมของเขา
กอร์ดอน ชุง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปกรรม ภาคจิตรกรรม ในปี พ.ศ.2541 จากวิทยาลัย Central Saint Martins College of Art and Design และได้รับปริญญาโทสาขาศิลปกรรม จากวิทยาลัย Royal College of Art (RCA) เมืองลอนดอน ในปี พ.ศ.2544 กอร์ดอน ชุง ได้รับเลือกให้แสดงนิทรรศการเดี่ยว ณ แกลลอรี่ชื่อดังมากมายเช่น Jack Shainman เมืองนิวยอร์ค นิทรรศการ The Four Horsemen of the Apocalypse ณ The New Art Gallery เมืองวอลซอลล์ สหราชอาณาจักร นิทรรศการ The Light that Burns Twice as Bright ณ Cristea Gallery เมืองลอนดอน สหราชอาณาจักร นิทรรศการ Here Be Dragons ณ Nottingham Castle Museum & Art Gallery เมืองนอตทิงแฮม สหราชอาณาจักร และนิทรรศการ New Order Vanitas ณ Ann Norton Sculpture Gardens เวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา